การตัดกรามให้เล็กลงมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้หน้าดูแคบเรียวและอ่อนโยน หรือเปลี่ยนรูปทรงให้สวยงามขึ้น ซึ่งเป็นการตัดแต่งมุมกรามไม่ใช่การเลื่อนกราม และไม่ต้องมีการจัดฟันร่วมด้วย โดยทั่วไปแพทย์จะตัดแต่งเฉพาะส่วนที่เป็นกระดูกยื่นเท่านั้นโดยที่ไม่ได้ตัดส่วนที่เป็นกล้ามเนื้อ และเมื่อตัดแต่งกระดูกที่ยื่นออกไปแล้ว จะทำให้กล้ามเนื้อที่เกาะอยู่หดตัวเล็กลงเองโดยธรรมชาติ
นอกจากนี้ยังต้องตรวจดูว่า มีความผิดปกติตรงกระดูกกรามส่วนอื่น เช่น คาง ข้อขากรรไกร และฟันหรือไม่ และเมื่อตัดแล้วใบหน้าเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน สมดุลกับใบหน้าส่วนอื่นไหม และต้องมีการเอกซเรย์กระดูกกราม เพื่อดูความยื่นของกระดูกกราม และการจัดเรียงฟัน เพื่อจะได้ดูว่าควรตัดแนวไหนถึงจะเหมาะสม
เทคนิคการผ่าตัด
สารบัญ
เทคนิคที่ 1
การผ่าตัดจากภายนอกช่องปาก เป็นการผ่าตัดที่ง่าย เพราะไม่ต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือพิเศษ โดยจะเปิดช่องจากด้านนอกบริเวณใกล้ ๆ กับมุมกรามเลาะผ่านกล้ามเนื้อ หลบเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อมุมปาก จนถึงกระดูกส่วนที่ต้องการตัด จากนั้นใช้เลื่อยตัดกระดูกออก ตกแต่งมุมกระดูกให้เรียบร้อย แล้วค่อยเย็บปิด เนื่องจากไม่ต้องผ่านช่องปากเข้าไปหากระดูกจึงมีอาการบวมน้อยกว่า แต่มีโอกาสกระทบกระเทือนเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงมุมกราม
เทคนิคที่ 2
การผ่าตัดจากภายในช่องปาก เป็นการผ่าตัดจากด้านใน ใช้เครื่องไม้เครื่องมือเฉพาะ บริเวณที่ผ่าตัดจะอยู่ด้านในปาก หลังฟันกรามซี่สุดท้าย เริ่มด้วยการเปิดช่อง แล้วจึงค่อย ๆ เลาะเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อที่คลุมมุมกรามออก จากนั้นจะเลาะเยื่อหุ้มกระดูกออก เพื่อสอดเครื่องมือเข้าไปส่องดูมุมกรามที่ตัดแล้วจึงใช้เลื่อยกระดูกออก ก่อนจะเย็บปิด เป็นการผ่าตัดที่ต้องใช้เครื่องมือและความชำนาญมาก ๆ และหลังจากผ่าตัดจะมีอาการบวมกว่าแบบแรก แต่ไม่มีแผลเป็นให้เห็น และเส้นประสาทไม่กระทบกระเทือน
ในปัจจุบันนิยมทำเทคนิคที่ 2 เพราะไม่มีแผลให้เห็นด้านนอก การผ่าตัดกรามโดยทั่วไปแพทย์จะวางแผนการผ่าตัดไว้ล่วงหน้าว่าจะตัดมาก-น้อยแค่ไหน โดยทั่วๆไปในกระดูกมุมขากรรไกร จะตัดได้ในระดับที่ต่ำกว่าเส้นประสาท ดังนั้น คนไข้ควรจะทราบก่อนว่าการผ่าตัดไม่สามารถจะลดขนาดกรามมากเกินกว่าตำแหน่งเส้นประสาทได้ เนื่องจากการตัดตำแหน่งที่สูงเกินไปอาจทำให้เส้นประสาทได้รับการกระทบกระเทือนได้ นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าเราจะมีการวัดขนาดของกระดูกที่ต้องการตัดไว้แล้ว แต่จากเทคนิคการผ่าตัดกระดูกขากรรไกรที่เหลืออยู่ในผู้ป่วยอาจไม่เท่ากัน แต่โดยทั่วไปมักจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
- งดยาต้านการอักเสบ (NSAID) เช่นแอสไพริน บุหรี่ อาหารเสริมบางตัวที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น กระเทียม น้ำมันปลา อย่างน้อย 2 อาทิตย์ ก่อนการผ่าตัด
- สมุนไพรบางชนิดเช่นอีฟนิ่งพริมโรส ยาวิตามินอีปริมาณสูง ๆ อาหารที่มีส่วนผสมของผงชูรส กระเทียม หัวหอม ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง อาจทำให้เลือดออกมากผิดปกติหรือมีปัญหาระหว่างผ่าตัด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพราะอาจต้องหยุดรับประทานสมุนไพรก่อนเข้ารับการผ่าตัดประมาณ 3 – 5 วัน
- งดอาหาร งดน้ำ 6 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด
- เตรียมลาหยุดงานประมาณ 10 – 14 วัน เนื่องจากการบวมจะดีขึ้นใน 1 อาทิตย์
- ก่อนผ่าตัดควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณและขนาดของขากรรไกรที่ต้องการตัด
- ควรนำเพื่อนมาด้วยในวันผ่าตัด
- ถ้ามีโรคประจำตัว ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
การดูแลหลังการผ่าตัด
หลังการผ่าตัดใบหน้าจะบวมประมาณ 3 อาทิตย์ ควรนอนพักผ่อนอยู่โรงพยาบาล 2 – 3 วัน เพื่อจะได้ดูแลทำความสะอาดช่องปากได้เต็มที่
- ควรงดอาหารในวันแรกหลังผ่าตัด เพื่อป้องกันเศษอาหารรบกวนแผล
- ระยะแรกไม่ควรทานอาหารแข็ง ควรรับประทานนม น้ำผลไม้ และอาหารอ่อนจนถึงอาหารปกติในที่สุด
- ให้พยายามอ้าปากบ่อย ๆ เพื่อเป็นการขยับข้อต่อขากรรไกร ป้องกัน ไม่ให้ข้อต่อเกิดอาการฝืดและเพื่อป้องกันกรามยึด
- ใช้น้ำเย็นประคบที่บริเวณแก้มประมาณ 7 วัน
- แผลในปากมักเย็บด้วยไหมละลาย จึงไม่ต้องตัดไหม
- บ้วนน้ำสะอาดบ่อยๆ ช่วยให้คราบเลือดที่แผลหลุดออก
- สายระบายน้ำเหลืองมักใส่ไว้ประมาณ 1 – 2 วัน
- หลังผ่าตัดอาจมีอาการเขียวช้ำบริเวณคอและใต้คาง ในวันที่ 7 หลังผ่าตัดอาจใช้น้ำอุ่นประคบเพื่อลดอาการเขียวช้ำได้
- จะเข้าที่ภายใน 2 – 3 อาทิตย์ แต่ยังมีอาการบวมที่มุมกรามเป็นเวลา 1 – 2 เดือน
- ถ้าเป็นการผ่าตัดภายในช่องปาก จะต้องฝึกอ้าปาก เพื่อป้องกันการเกิดพังผืดรอบๆ กราม และใกล้กับข้อขากรรไกร
อาการค้างเคียง
- เส้นประสาทเลี้ยงริมฝีปากและเหงือกกระทบกระเทือน การดึงรั้งเส้นประสาทอาจทำให้เกิดอาการชาที่ริมฝีปาก และทำให้ปากขยับ แต่จะเป็นแบบชั่วคราวประมาณเดือนสองเดือนก็จะหายเป็นปกติ
- กระดูกกรามไม่เท่ากัน กระดูกกรามอาจไม่เท่ากันมาตั้งแต่ก่อนผ่าตัด หรืออาจเป็นเพราะตัดกระดูกกรามไม่เท่ากัน หรือเป็นไปได้ว่ากรามสองข้างบวมไม่เท่ากัน