ในการผ่าตัดเสริมหน้าอกนั้น แพทย์จะทำการวางถุงเต้านมเทียมไว้ได้ทั้งบริเวณเหนือกล้ามเนื้อ และใต้กล้ามเนื้อ โดยการวางถุงเต้านมเทียมทั้งสองลักษณะ อาจมีข้อดี ข้อด้อย ที่แตกต่างกันดังนี้ คือ
การวางถุงเต้านมเหนือกล้ามเนื้อ (Sub-glandular Placement)
เป็นตำแหน่งการวางถุงเต้านมเทียมในระดับใต้เนื้อเต้านม โดยที่ถุงเต้านมเทียมจะถูกวางไว้เหนือกล้ามเนื้อ ซึ่งการผ่าตัดเพื่อวางถุงเต้านมเทียมในตำแหน่งนี้มีขั้นตอนไม่ยุ่งยากมากนัก จึงมีผลข้างเคียงที่เกิดจากบาดแผลน้อยกว่า และแผลก็หายเร็วกว่าวิธีอื่นๆ อีกด้วย แต่กระนั้น การวางถุงเต้านมเทียมไว้เหนือกล้ามเนื้อ ก็เหมาะกับหญิงสาวที่มีสุขภาพร่างกาย และกล้ามเนื้อหน้าอก รวมทั้งชั้นไขมันที่แข็งแรงมากพอ เช่น สาวนักกีฬา เป็นต้น ทั้งนี้เพราะกล้ามเนื้อ และชั้นไขมันดังกล่าวจะต้องเป็นกันชนชั้นดี ที่กั้นกลางระหว่างผิวเนื้อเต้านมจริงๆ กับถุงเต้านมเทียม นั่นเอง
ทั้งนี้ การผ่าตัดเสริมเต้านมเทียมด้วยการวางถุงเต้านมไว้เหนือกล้ามเนื้อ จะทำให้เต้านมหลังการผ่าตัดมีลักษณะทรงกลม ดูสวยงาม เป็นธรรมชาติ ทว่า อย่างไรก็ตาม การวางถุงเต้านมเทียมไว้เหนือกล้ามเนื้อ ก็ยังมีข้อเสียอยู่ด้วยเช่นกัน กล่าวคือ วิธีการนี้มีความเสี่ยง ที่จะเกิดพังผืดหดรัดถุงเต้านมเทียมได้มากกว่า และทำการตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมได้ยากกว่าวิธีอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
การวางถุงเต้านมเทียมไว้ใต้กล้ามเนื้อ
การวางถุงเต้านมเทียมไว้ใต้กล้ามเนื้อ นั้นมี 2 วิธี คือ
การวางถุงเต้านมเทียมไว้ใต้กล้ามเนื้อบางส่วน (Partialy Submuscular)
วิธีการนี้ เป็นการวางถุงเต้านมเทียมไว้ใต้กล้ามเนื้อหน้าอกมัดใหญ่เพียงมัดเดียว โดยที่บางส่วนของถุงเต้านมเทียมจะไม่ถูกปิดทับด้วยกล้ามเนื้อหน้าอก ซึ่งได้แก่ บริเวณด้านล่าง และด้านบนของถุงเต้านมนั่นเอง
การผ่าตัดอาจทำได้โดยการเปิดปากแผลที่หัวนม หรือใต้ราวนม โดยการผ่าตัดผ่านกล้ามเนื้อ และพังผืดบริเวณด้านล่างของกล้ามเนื้อ เพื่อเข้าไปเปิดช่องว่างใต้กล้ามเนื้อ ดังนั้นการเสริมหน้าอกใต้กล้ามเนื้อจึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีเนื้อหน้าอกเพียงเล็กน้อย เพราะกล้ามเนื้อจะช่วยเป็นผนังด้านนอกคอยปกป้องถุงเต้านมเทียมอีกชั้นหนึ่ง ก่อนที่จะมาถึงถุงเต้านมเทียมที่อยู่ด้านใน ทำให้มีโอกาสคลำพบขอบถุงเต้านมเทียมได้น้อย แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีข้อเสีย คือ ส่วนล่าง และด้านข้างของเต้านม จะไม่มีกล้ามเนื้อปกคลุม ดังนั้นส่วนล่างของถุงเต้านมเทียมก็จะอยู่ในระดับเดียวกับการวางถุงเต้านมไว้เหนือกล้ามเนื้อ ทำให้ด้านล่างของถุงเต้านมเทียมไม่มีกล้ามเนื้อรองรับ ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ถุงเต้านมเทียมมีโอกาสที่จะเลื่อนลงด้านล่าง และอาจคลำพบขอบถุงเต้านมเทียม บริเวณขอบล่างด้านข้างของเต้านมได้เช่นกัน
นอกจากนี้ หลังการผ่าตัดแผลจะบวม และมีอาการปวดอยู่นานทีเดียว อีกทั้งการอยู่ทรงของหน้าอกภายหลังการผ่าตัดจะเป็นไปได้ช้ากว่าการผ่าตัดโดยวางถุงเต้านมไว้เหนือกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจกินระยะเวลานานถึง 2 – 3 เดือนทีเดียว กว่าที่กล้ามเนื้อหน้าอกจะค่อยๆ ยืดแผ่กระจายตัวจนเข้าที่ และได้รูปทรงเต้านมที่สวยงามตามต้องการ
การวางถุงเต้านมเทียมใต้กล้ามเนื้อทั้งหมด (Completely Submuscular)
การวางถุงเต้านมเทียมไว้ในตำแหน่งใต้กล้ามเนื้อทั้งหมด คือ การวางถุงเต้านมเทียมไว้ใต้กล้ามเนื้อสามมัด คือ กล้ามเนื้อด้านบนและส่วนกลาง โดยวางไว้ใต้กล้ามเนื้อหน้าอกมัดใหญ่ ด้านข้างของหน้าอกส่วนบน โดยวางไว้ใต้กล้ามเนื้อด้านข้างของหน้าอก ส่วนที่สามคือด้านล่าง โดยแพทย์จะวางถุงเต้านมเทียมไว้ใต้ส่วนบนของกล้ามเนื้อท้อง ด้วยเหตุนี้ถุงเต้านมเทียมจึงถูกปกคลุมไปด้วยกล้ามเนื้อทุกด้าน ซึ่งกล้ามเนื้อทั้งสามมัดจะช่วยทำหน้าที่เสมือนเป็นเปลคอยโอบรับถุงเต้านมเทียม ไม่ให้มีการเคลื่อนของถุงเต้านมลงที่ด้านล่าง
ทว่า อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เต้านมของคนไข้มีขนาดใหญ่ และหย่อนคล้อยมากๆ แพทย์จะไม่แนะนำให้เลือกเทคนิคการวางถุงเต้านมเทียมใต้กล้ามเนื้อทั้งหมด เพราะอาจส่งผลทำให้เต้านมหลังการศัลยกรรมมีรูปร่างเป็นสองลอน หรือภาวะเต้านมซ้อน (Double Bubble) หรืออาจส่งผลทำให้เต้านมคล้อยลง และมีขนาดใหญ่เฉพาะส่วนที่อยู่ใต้กล้ามเนื้อเท่านั้น หรือที่เรียกกันว่า Snoopy Breast ซึ่งเกิดจากการที่แต่เดิมนั้น เต้านมของคนไข้มีลักษณะฟีบแบน หรือมีเนื้อเต้านมน้อย ซึ่งการเลือกวางถุงเต้านมใต้กล้ามเนื้อทั้งหมดนี้ จะส่งผลทำให้เต้านมแลดูไม่เป็นธรรมชาติ นั่นเอง
ดังนั้น หากจะกล่าวโดยสรุปก็คือ การจะเลือกวางถุงเต้านมเทียมไว้ที่ส่วนใดของเต้านมนั้น คนไข้และแพทย์ควรมีการทำความเข้าใจร่วมกันอย่างละเอียด ทั้งในเรื่องของสรีระร่างกายที่แตกต่างกันของแต่ละคน รวมถึงบาดแผล และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาภายหลังการผ่าตัดด้วยนั่นเอง